• w3C

เวิลด์ไวด์เว็บคอนซอร์เทียม (อังกฤษ: World Wide Web Consortium: W3C) คือองค์กรระหว่างประเทศทำหน้าที่จัดระบบมาตรฐานที่ใช้งานบนเวิลด์ไวด์เว็บ (ย่อว่า WWW หรือ W3) โดยมีจุดมุ่งหมาย ที่จะเป็นแกนนำทางด้านพัฒนาโพรโทคอล และวิธีการใช้งานสำหรับเวิลด์ไวด์เว็บทั้งหมด นอกจากนี้ทาง W3C มีการบริการทางการศึกษา การพัฒนาซอฟต์แวร์ และเปิดให้ใช้ฟอรัมในการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเว็บ

  • เรื่องของ DOCTYPE ในเว็บเพจ

มีใครใช้โปรแกรม Dreamweaver หรือโปรแกรมสร้างเว็บเพจใด ๆ แล้วสังเกตกันบ้างไหมว่า โปรแกรมเหล่านี้จะเปิดหัวเอกสารของเว็บเพจในส่วนของ CODE ให้เราที่บรรทัดแรกสุดเป็นข้อความประมาณว่า
<!DOCTYPE html PUBLIC "-//W3C//DTD XHTML 1.0 Transitional//EN" "http://www.w3.org/TR/xhtml1/DTD/xhtml1-transitional.dtd">
มีใครสงสัยไหมครับว่า ทำไมโปรแกรมต้องสร้างโค้ดนี้ให้เราเสมอเมื่อทำการสร้างไฟล์ใหม่ขึ้นมา (ถ้าใครยังไม่เคยเปิดดูโค้ดเลยลองเปิดดูครับ) เราเรียกกันว่า DOCTYPE ครั้งนี้ในบทความนี้เราจะมาว่าถึงเรื่องนี้กัน

  • DOCTYPE คือ

DOCTYPE คือ การประกาศว่าเอกสารเว็บเพจนั้นสร้างขึ้นมาโดยยึดหลักตามมาตราฐานใด ซึ่งมาตราฐานที่เราใช้กันทุกวันนี้กับการแสดงผลเว็บเพจ จะมีที่ใช้กันอยู่ 2 มาตราฐาน คือ
- HTML
- XHTML
ทั้ง 2 มาตราฐาน จะมีการแบ่งกฎในการพัฒนาแตกต่างกันออกไปอีก 3 ประเภท คือ
- Transitional
- Strict
- Frameset
ในบทความนี้ผมจะขอกล่าวถึง และยกตัวอย่างเพียงในส่วนของXHTMLเท่านั้นครับ เนื่องจากว่าXHTMLได้เข้ามาแทนที่ HTML

  • กฏ 3 ประเภทของ DOCTYPE

- Transitional
สำหรับ Transitional นี้จะมีรูปแบบการประกาศที่บรรทัดแรกของเอกสาร ดังนี้
<!DOCTYPE html PUBLIC "-//W3C//DTD XHTML 1.0 Transitional//EN" "http://www.w3.org/TR/xhtml1/DTD/xhtml1-transitional.dtd">
กฏในแบบ Transitional ผู้พัฒนา XHTML ยังคงสามารถใช่งาน TAG หรือ Attribute ของ HTML แทรกลงไปในโค้ดได้

- Strict
สำหรับ Strict จะมีรูปแบบการประกาศที่บรรทัดแรกของเอกสาร ดังนี้
<!DOCTYPE html PUBLIC "-//W3C//DTD XHTML 1.0 Strict//EN" "http://www.w3.org/TR/xhtml1/DTD/xhtml1-strict.dtd">
กฏในแบบ Strict จะเข้มงวดกับไวยากรณ์ของภาษา ถ้าเราใช้ Strict กับเอกสารเว็บเพจเรา เราจะไม่สามารถแทรก Attribute ใด ๆ ได้เลยกับเว็บเพจของเรา เนื่องจาก Strict จะมองในส่วนของ TAG ที่ใช้กำกับ กับ ส่วนโค้ดที่ใช้ในการแสดงผลแยกออกจากกัน นั้นคือ TAG ของ XHTML เป็นเพียงตัวบอกว่าเอกสารนั้นเมื่อมี TAG นี้กำกับอยู่จะให้ทำอะไร เช่น ขึ้นบรรทัดใหม่ Paragraph ใหม่ เป็นต้น แต่ถ้าต้องการระบุคุณสมบัติ เช่น ทำข้อความไว้กึ่งกลางหน้าเว็บเพจ หรือใส่สีสันให้ข้อความ ต้องกระทำผ่าน CSS เท่านั้น สรุปง่าย ๆ ถ้าเราใช้ Strict กับเว็บเพจ เราต้องใช้ XHTML กับ CSS อย่างแท้จริงเท่านั้น !

- Frameset
สำหรับ Frameset จะมีรูปแบบการประกาศที่บรรทัดแรกของเอกสาร ดังนี้
<!DOCTYPE html PUBLIC "-//W3C//DTD XHTML 1.0 Frameset//EN" "http://www.w3.org/TR/xhtml1/DTD/xhtml1-frameset.dtd">
ใช้ในกรณีที่เรามีการออกแบบโดยมีการใช้ Frame ในการแบ่งจอของ Browser

  • มาตรฐาน W3C

W3C หรือ World Wide Web Consortium เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเว็บ นำโดยนาย ทิม เบิร์นเนอร์ ลี (Tim Berners-Lee) ก่อตั้ง W3C ในปี ค.ศ.1994 และมีองค์กรสมาชิกมากกว่า 450 องค์กร ซึ่งรวมถึงองค์กรอย่าง Microsoft, Sun Microsystems และอื่น ๆ อีกมากมาย องค์กรนี้ประกอบด้วยสถาบัน 3 สถาบันคือ MIT ในสหรัฐอเมริกา INRIA ในยุโรป และ Keio University ในญี่ปุ่น

  • มาตรฐานของ W3C มีอะไรบ้าง

1. HTML 4.0 – Hyper Text Markup Language
2. XML 1.0 – Extensible Markup Language
3. XHTML 1.0, 1.1 และ Modularization
4. CSS – Cascading Style Sheets
5. DOM 1 – Document Object Model Level 1

  • ประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำตามมาตรฐานเว็บ

1. ประโยชน์ต่อซอฟแวร์หรือเครื่องจักร
• Search engine สามารถค้นหาและทำดรรชนีข้อมูลในเว็บได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
• เนื่องจากว่ามาตรฐานเป็นสิ่งที่บราวเซอร์ทุกชนิดเข้าใจ จึงทำให้สามารถเข้าใจโครงสร้างเอกสารเว็บได้ แม้ว่าจะไม่เข้าใจเทคโนโลยีมาตรฐานใหม่ ๆ แต่ก็ยังสามารถแสดงผลได้
• นักพัฒนาที่ใช้มาตรฐานจะสามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร (validate) ด้วยเครื่องมือที่มีมากมายในอินเตอร์เน็ทได้ ซึ่งช่วยให้การค้นหาข้อผิดพลาดในเว็บของเราได้ง่ายขึ้น
• เอกสารที่ได้มาตรฐานสามารถแปลงไปเป็นเอกสารแบบอื่นได้ง่าย ทำให้เอกสารนั้น ๆใช้งานได้หลายประโยชน์ขึ้น

2. ประโยชน์ต่อผู้ใช้
• ผู้ที่ใช้บราวเซอร์อื่น ๆ ที่แตกต่างไปจากบราวเซอร์ทั่ว ๆ ไปที่เราคุ้นเคยสามารถใช้งานเว็บของเราได้ เช่น คนตาบอดที่ใช้บราวเซอร์เบรลล์หรือ Braille display คนที่ใช้อุปกรณ์พกพาต่าง ๆ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่อาจมีในอนาคต ฯลฯ
• สำหรับการทำธุรกิจแล้ว การปฏิเสธผู้ใช้บางกลุ่มสามารถสร้างความแตกต่างในเรื่องของรายได้อย่างคาดไม่ถึง

3. ความมีเสถียรภาพ
• ข้อมูลหรือเนื้อหาต่าง ๆ ที่ทำตามมาตรฐานจะยังสามารถใช้ได้แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆจะเข้ามาแทน และสามารถแสดงผลลัพธ์ผ่านทางบราวเซอร์ในลักษณะที่ผู้ใช้รับได้ (ไม่น่าเกลียดจนเกินไป) เรียกว่าเป็นการตกยุคอย่างสวยงาม (degrade gracefully)
• เนื่องจากว่า เว็บไซต์หนึ่ง ๆ อาจอยู่นานและมีผู้พัฒนาหลายคน ผู้ที่เข้ามาสานงานต่อจะเข้าใจงานที่มีอยู่ได้ง่ายขึ้นหากโค้ดของเราได้มาตรฐาน